สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการจุกเสียด แน่นท้อง
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดจากการที่อาหารไม่ย่อยหรือย่อยไม่สมบูรณ์ การที่รับประทานอาหารย่อยยาก มีไขมันสูง อาหารสุกๆดิบๆ รสจัด หรือรับประทานเร็วเกินไปเคี้ยวไม่ละเอียด มีความเครียด ความกังวลอารมณ์เศร้าหมอง ทำให้อาหารย่อยไม่ดี จะเกิดลมในกระเพาะอาหารมากและดันขึ้นมาที่บริเวณยอดอก จึงเกิดอาการอึดอัดในท้อง จุกเสียด แน่น คลื่นไส้ เรอเหม็นเปรี้ยว อาเจียน ถ้าเป็นมากจะปวดท้องเกร็ง อาจท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วยก็ได้ เพื่ออาหาร ปวดศีรษะและเป็นแผลร้อนในในปากด้วย
วิธีแก้ไข ควรรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีก๊าซ เช่น น้ำอัดลม ถั่ว มะม่วง เป็นต้น และใช้สมุนไพรขับลมที่จะกล่าวถึงร่วมกับสมุนไพรช่วยย่อย เช่นเนื้อสับปะรดสด หัวกระเทียมสดหรือเหง้าขมิ้นชัน
กระชายใช้เหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ (สด 5-10 กรัม แห้ง 3-5 กรัม) ต้มพอเดือดเอาดื่ม หรือปรุงอาหารรับประทานได้
กระเทียม ใช้กระเทียม 5-7 กลีบ ซอยละเอียดรับประทานหลังอาหารทุกมื้อ
กระเพราเด็กอ่อนใช้ใบสด 3-4 ใบ ใส่เกลือเล็กน้อย บดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2 วันจะช่วยขับลมและถ่ายขี้เทา สำหรับผู้ใหญ่ใช้ยอดสด 1 กำมือต้มพอเดือด ใช้ใบกระเพราแห้ง 1 กำมือ ( 4กรัม ) ใบสดใช้ 25 กรัม ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม หรือป่นเป็นผงครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ชงกับน้ำหรือใช้ใบสดแกงเลียงให้สตรีหลังคลอดรับประทาน
กระวานไทย ใช้ผลที่แก่จัด 6-10 ผล ชงกับน้ำครึ่งถ้วยแก้ว
กานพลู ใช้ดอกตูมแห้ง 5-8 ดอก บดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือใช้ดอกตูมแห้ง 1-3 ดอกใส่ในกระติกน้ำร้อน ที่ใช้ชงนมเด็กอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กท้องอืดท้องเฟ้อ
ข่า ใช้เหง้าสดหรือแห้ง ขนาดหัวแม่มือ (สดใช้ 5 กรัม แห้ง 2 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือตำให้แหลก เติมน้ำหรือน้ำปูนใส ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
ขิงใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำหรือใช้ผงขิงแห้งชงน้ำดื่ม
ขมิ้นชันล้างขมิ้นให้สะอาด (ไม่ต้องปอกเปลือก) หั่นเป็นชิ้นบางๆตากแดดสัก 1-2 วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บในขวดสะอาด กินครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน บางคนกินขมิ้นแล้วท้องเสีย ให้หยุดยาทันที
ดีปลีใช้ผลแห้ง 3-4 ผล ชงน้ำดื่ม
ตะไคร้ ใช้ลำต้นและโคนใบแก่สด ทุบพอแหลก ประมาณ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ชงเอาน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือใช้ประกอบอาหาร
มะละกอรับประทานเป็นผลไม้
สับปะรดรับประทานเป็นผลไม้
สมุนไพรรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน
อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นกลไกที่ร่างกายกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารออกทางปาก มีสาเหตุมากมาย ทั้งที่ไม่รุนแรง เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป อาหารไม่ย่อย เป็นต้น จนถึงรุนแรงมาก เช่น ความผิดปกติของสมอง เลือดออกในสมองจากอุบัติเหตุ โรคตับอักเสบ กระเพาะอาหารอุดตัน ไส้ติ่งอักเสบ ติดเชื้อในทางเดินอาหารอย่างแรง เป็นต้น อาการอาเจียนที่สามารถใช้สมุนไพรได้ คือ เมารถ เมาเรือ อาหารไม่ย่อย หรือโรคที่ได้รับการวินิจฉัยและอยู่ในความดูแลของแพทย์ เช่น อยู่ระหว่างการรักษามาลาเรีย เป็นต้น
กะเพรา ยอดสด 1 กำมือ ต้มพอเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำ
ขิง ใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือ ต้มกับน้ำ หรือใช้ผงขิงชงน้ำดื่ม
ยอ ผลดิบแก่ให้ฝานผลเป็นชิ้นบางๆย่างไฟหรือคั่วให้เหลืองกรอบ ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ต้มหรือชงดื่มน้ำร้อน จิบบ่อยๆ
สมุนไพรรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
สาเหตุของโรคดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ปกติจะมีสารเมือก (mucin) หลั่งออกจากต่อมในส่วนล่างของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและส่วนบนของลำไส้เล็ก เพื่อป้องกันเยื่อบุกระเพาะจากฤทธิ์กัดของน้ำย่อยที่เป็นกรดอย่างแรง แต่มีปัจจัยบางอย่างที่คาดว่าจะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง เกิดการอักเสบและเป็นแผลได้ง่าย เช่น ภาวะขาดอาหาร ภาวะเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานยาหรือสารบางชนิดที่กัดกระเพาะ สูบบุหรี่จัด ดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนมากหรือเนื่องจากกรรมพันธุ์
อาการระยะแรก คือ ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ อาจมีความรู้สึกอิ่มแน่นหรือหิวร่วมด้วย แผลในกระเพาะอาหารมักปวดท้องหลังอาหารประมาณ 1-ชั่วโมงครึ่ง ส่วนแผลในลำไส้มักปวดท้องหลังอาหารประมาณ 2-4 ชั่วโมง และช่วงดึกหลังเที่ยงคืนด้วย
การรักษาจะไม่หายขาด ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเองคล้ายกับผู้ป่วยท้องอืด ท้องเฟ้อ ระยะที่ปวดท้องควรดื่มนมถั่วเหลืองทุก 3-4 ชั่วโมงพร้อมทั้งใช้สมุนไพรที่แนะนำ รับประทานอาหารอ่อน ทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่ทานบ่อยๆ งดอาหารรสจัดและสิ่งต้องห้ามข้างต้น และหาทางคลายเครียดด้วย จะมีสมุนไพรที่ช่วยรักษาเยื่อบุทางเดินอาหารให้แข็งแรงขึ้น และควรใช้สมุนไพรขับลมร่วมด้วย
กล้วยน้ำว้ารับประทานผลดิบสดครั้งละครึ่งถึง 1 ผล อาจใช้ผลดิบหั่นบางๆตากแห้ง บดเป็นผงชงน้ำดื่ม ใช้ผงยาเท่ากับครึ่งถึง 1 ผล
ข้อควรระวัง อาจมีอาการท้องอืดหลังรับประทานยานี้ แก้ได้โดยดื่มน้ำต้มขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆขมิ้นชันผงขมิ้นครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอนหรือปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 2 เม็ด
สมุนไพรแก้ท้องผูก
อาการท้องผูกเกิดจากสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญ คือ ชอบรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง เนื้อสัตว์ ข้าวและขนมหวานต่างๆ ไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้ ดื่มน้ำน้อยเกินไป ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลาและชอบกลั้นอุจจาระ ออกกำลังกายน้อยเกินไป ความเครียดในการงาน คนแก่มักท้องผูกเพราะความต้องการอาหารน้อยลงและลำไส้ไม่ค่อยทำงาน คนไข้ที่นอนนานๆไม่ได้ออกกำลัง ลำไส้จะไม่บีบตัวและท้องผูก วิธีแก้ไข รับประทานอาหารที่มีกาก เช่น ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังให้สม่ำเสมอ ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ถ้าจำเป็นใช้สมุนไพรที่เป็นยาระบาย ข้อควรระวังในการใช้ยาระบายหรือยาถ่าย1. คนไข้อ่อนเพลีย2. มีอาการปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียน3. ท้องผูกเป็นเวลานาน ใช้ยาระบายไม่ได้ผล ควรสงสัยว่าอาจเป็นเพราะลำไส้อุดตัน4. มีการอักเสบในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ
มะละกอ สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Carica papaya L.
วงศ์ CARICAEAE
มะละกอ เดิมเป็นผลไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกา แต่ที่เข้ามาออกลูกออกหลานขยายพันธุ์อยู่เต็มบ้านของเราได้ เพราะชาวยุโรปได้นำมาแพร่พันธุ์จนกระทั่งได้กระจายไปทั่วทุกภาคเอเชีย โดยเฉพาะบ้านเราที่ขึ้นชื่อมาก แม้แต่ฝรั่งยังรู้จักกันอย่างกว้างขวางในนามใหม่ว่า ปาปา ย่า ป๊อก ป๊อก
ลักษณะทั่วไป มะละกอ เป็นพรรณไม้เนื้ออ่อน สูงได้ถึง 8 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นตรงมีเนื้ออ่อนฉ่ำน้ำ
ใบ เป็นแฉก มีรอยเว้าเล็กๆ คล้ายขนนก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 ซ.ม.
ดอก เป็นช่อ ดอกตัวผู้มีสีเหลืองออกสีเขียวอ่อน กลีบบางยาวประมาณ 2 ซ.ม. ดอกตัวเมียไม่มีก้านดอก ยาวประมาณ 7 ซ.ม. ออกเป็นดอกเดี่ยวและกระจุก กลีบดอกสีขาวออกเหลือง
ผล มีลักษณะกลมยาวรี ผลอ่อนภายนอกมีสีเขียวเนื้อในสีขาว แต่เมื่อสุกงอมได้ที่จะมีสีเหลืองส้ม เนื้อหนา นุ่ม รสฉ่ำหวาน มีเมล็ดคล้ายรูปไข่สีน้ำตาลดำ ผิวขรุขระอ่อนค่อนข้างมาก ยาว 6-7 ซ.ม. มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 ซ.ม.
ส่วนที่ใช้ ผล ยาง ราก ใบ
สรรพคุณทางยาสมุนไพร
นำผลดิบและผลสุกมาต้มกินเป็นยา ขับน้ำดี น้ำเหลือง บำรุงน้ำนม ขับพยาธิ รักษาโรคริดสีดวงทวาร ผลสุกเป็นยาแก้ท้องผูกที่วิเศษสุดๆ ถ่ายคล่องเป็นยาระบายได้อย่างดีเยี่ยม นำเนื้อสุกมาปั่น แล้วพอกหน้าทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกใบหน้าจะชุ่มชื้นขึ้น
คุณค่าทางอาหาร
มะละกอ สามารถนำไปประกอบอาหารต่างๆ ได้อย่างวิเศษมากมายหลายอย่าง
มะละกอดิบ ถ้าใช้ทำเป็นอาหารยอดนิยม คงหนีไม่พ้นส้มตำ
มะละกอดิบ หั่นเป็นแว่นๆ พอคำ นำไปแกงส้มใส่ปลาช่อนใส่กุ้ง
มะละกอสุก นำมาปลอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาดหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปปั่น ผสมน้ำตาล และเกลือป่น ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม และเหมาะสำหรับคลายร้อนได้เป็นอย่างดี และมีคุณค่าทางโภชนาการอาหารอย่างมากมาย
มะละกอมีเกลือแร่ และวิตามินมาก มีคุณค่าทางอาหารไม่น้อย แคลเซียมในมะละกอช่วยป้องกันฟันผุ วิตามินซีช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน วิตามินเอช่วยในบำรุงสายตาและระบบประสาท และยังมีสารอาหารอื่นๆ อีกมาก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือ คัมภีร์แพทย์สมุนไพร ผลไม้สมุนไพร และพืชผักสวนครัวเว็บไซต์ lifestyle.kingsolder.com ,elib-online.com
มะขามป้อม สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
มะขามป้อม เป็นผลไม้เก่าแก่ ที่คนเฒ่าคนแก่จะรู้จักและตระหนักถึงคุณค่าของ มะขามป้อม เป็นอย่างดี ว่ากันว่าชนชาติที่รู้จัก มะขามป้อม มาช้านาน และแพร่หลายมากที่สุดในโลกเห็นจะได้แก่อินเดีย ซึ่งให้ความนับถือมะขามป้อมมากถึงกับขนาน มะขามป้อม ว่าเป็นพยาบาลที่ดูแลสุขภาพอยู่ข้างกายอีกนัยหนึ่งก็เปรียบเสมือนแม่ที่ดูแลรักษาลูกอยุ่เสมอ นอกจากนั้นยังมีการเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งสมัยพุทะกาล พระพุทะเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายฉัน มะขามป้อม เป็นโอสถได้
ลักษณะ มะขามป้อมเป้นพรรณไม้ยืนต้น ขนาดสูงประมาณ 7-15 เมตร ลำต้นมีเปลือกเรียบเกลี้ยง ลอกออกเป็นแผ่นๆ
ใบ ใบเดี่ยวเรียงชิดติดกันคล้ายขนนก ปลายใบยาวรี สีเขียวแก่ ยาวประมาณ 1 ซ.ม.
ดอก ออกดอกเป็นช่อหรือเป็นกระจุก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกกันอยู่บนต้นเดียวกัน หนึ่งดอกมีกลีบดอกประมาณ 5-6 กลีบ มีสีเหลืองอมเขียวผล รูปร่างกลม ผิวเกลี้ยง เนื้อหนา รสฝาด มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซ.ม. เปลือกแบ่งเป็นสันความยาว 6 ซ.ม.ภายในเนื้อ มีเมล็ดสีน้ำตาลอยู่ 6 เมล็ดส่วนที่ใช้ ใบ เปลือกลำต้น ผล ปมที่ก้าน ราก
สรรพคุณทางยาสมุนไพร
รากแห้งของมะขามป้อม ใช้ต้มดื่มแก้ร้อนใน แก้ท้องเสีย แก้โรคเรื้อน ลดความดันโลหิต
รากสดมะขามป้อม นำมาพอกแผลเมื่อโดนตะขาบกัด สามารถแก้พิษได้
เปลือกลำต้นมะขามป้อม ใช้เปลือกแห้งบดเป็นผง โรยบาดแผลหรือนำมาต้มดื่มแก้โรคบิด และฟกซ้ำ
ปมก้าน ใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากแก้ปวดฟัน โดยนำปมก้าน 10-30 อัน มาต้มกับน้ำแล้วใช้อมหรือดื่มแก้ปวดท้องน้อย กระเพาะอาหาร แก้ปวดเมื่อยกระดูก แก้ไอ แก้ตานซางในเด็ก
ผลมะขามป้อมสด ใช้รับประทานเป็นผลไม้แก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นยาบำรุง แก้หวัด แก้ไอ ละลายเสมหะ ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย รักษาคอตีบ รักษาเลือกออกตามไรฟัน หรือจะนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง รับประทานเป็นยาถ่ายพยาธิ
ผลมะขามป้อมแห้ง นำมาบดชงน้ำร้อนแบบชาดื่มแก้ท้องเสีย โรคหนองในบำรุงธาตุ รักษาโรคบิด ใช้ล้างตา แก้ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ แก้ตกเลือด ใช้เป็นยาล้างตา หรือจะผสมกับน้ำสนิมเหล็กแก้โรคดีซ่าน โลหิตจาง
เมล็ด นำมาเผาไฟจนเป็นเถ้าผสมกับน้ำมันพืช ทาแก้ตุ่มคัน หืด หรือตำเป็นผงชงน้ำร้อนดื่มรักษาโรคเบาหวาน หอบหืด หลอดลมอักเสบ รักษาโรคตา แก้คลื่นไส้ อาเจียนคุณค่าทางอาหาร
มะขามป้อมมีรสชาติถึง 5 รสด้วยกัน คือ เปรี้ยว หวาน เผ็ดร้อน ขม ฝาด ถือได้ว่า ทุกส่วนของมะขามป้อม มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเราทั้งสิ้น ในมะขามป้อม 1 ผล มีวิตามินซีสูงถึง 700-100 มิลลิกรัม มะขามป้อมนับว่า เป็นยาอายุวัฒนะขนานหนึ่ง ทางที่ดีเราควรหันมาบริโภคมะขามป้อม เป็นยาบำรุงและบำบัดโรคกันเถอะ วิธีง่ายๆ โดยวิธีทำเป็นมะขามป้อมกวนหรือลูกอมก็ได้ ถือเป็นการส่งเสริมสมุนไพรไทยอีกทางหนึ่ง จะเห็นได้ว่าในมะขามป้อมนั้น มีแคลเซียมสูงมาก ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง และยังมีวิตามินซี ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟันได้อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ : lifestyle.kingsolder.com ,elib-online.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น